ประวัติ วัดโพธิ์ประทับช้าง จากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า
มูลเหตุในการก่อสร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง
ในแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพ็ชร์ ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ , พระเจ้าดอกเดื่อ)
ในศักราช ๑๐๕๙ ปีฉลูนพศก (พ.ศ. ๒๒๔๐) ครั้นถึงวันอันได้ศุภวารมหามงคลนักขัตฤกษ์ จึ่งท้าวพระยาเสนา กระวีราช ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายฝ่ายทหาร พลเรือน และพระสงฆ์ราชาคณะคามวาสี อรัญวาสีชีพราหมณาจารย์ทั้งปวง ประชุมพร้อมกัน ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อัญเชิญเสด็จพระบาทบรมราชบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นราชาภิเษก เป็นเอกอัครบรมทิราชธิบดินทรปิ่นพิภพจบสกลราชสีมา เสวยมไหสุริยศวรรยาธิปัตต์ถวัลย์ราชสมบัติประเพณี สืบศรีสุริยวงศ์ ดำรงราชอาณาจักรกรุงเทพมหานคร ทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน แล้วถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์สำหรับพระมหากษัตริย์ธิราชเจ้า และการพระราชพิธีทั้งปวงนั้น พร้อมตามอย่างโบราณราชประเพณีเสร็จสิ้นทุกประการ และขณะนั้นเมื่อพระองค์เสด็จเสวยราชสมบัตินั้นพระชนม์ได้สามสิบหกพรรษา ฯลฯ
ลุศักราชได้ ๑๐๖๑ ปี เถาะ เอกศก (พ.ศ. ๒๒๔๒) สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริถึงภูมิชาติแห่งพระองค์ ซึ่งสมเด็จพระพันปีหลวงตรัสบอกไว้แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นว่า เมื่อศักราช ๑๐๒๔ ปี ขาล อัฐศก (พ.ศ. ๒๒๐๕) แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จบรมพิตรพระนารายณ์เป็นเจ้า เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากรพระชินราช พระชินสีห์ ณ เมืองพิษณุโลก ทรงพระกรุณาให้มีการมหรสพถวายพุทธสมโภชคำรบ ๓ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศพาเอาสมเด็จพระพันปีหลวงตามเสด็จขึ้นไปด้วย ขณะนั้นสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระครรภ์แก่ จึงประสูติพระองค์ที่ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร ในเดือนอ้าย ปีขาล อัฐศก แล้วจึงเอารกที่สหชาตินั้นใส่ลงในผอบเงิน เอาไปฝังไว้หว่างต้นโพธิ์ประทับช้าง และต้นมะเดื่ออุทุมพร ต่อกันนั้น เหตุนั้นจึงได้นามกรชื่อ มะเดื่อ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริระลึกถึงที่ภูมิชาติ อันพระองค์ประสูติ ณ แขวงหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นที่มหามงคลสถานอันประเสริฐสมควรจะสร้างขึ้นเป็นพระอาราม จึงมีพระราชดำรัสสั่ง สมุหนายก ให้เกณฑ์กันขึ้นไปสร้างพระอารามตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง มีพระอุโบสถ วิหาร มหาธาตุเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฎีสงฆ์พร้อมเสร็จ และสร้างพระอารามนั้นสองปีเศษ จึงจะสำเร็จ ในปีมะเส็ง ตรีศก จึงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยพระชลวิมานโดยกระบวนนาวาพยุห ขึ้นไปพระอารามตำบลโพธิ์ประทับช้างนั้น และท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งขึ้นไปคอยรับเสด็จโดยสถลมารคนั้นก็เป็นอันมาก แล้วทรงพระกรุณาให้มีการฉลอง และมีการมหรสพคำรบสามวัน ทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก และทรงพระราชอุทิศถวายเลขข้าพระไว้สำหรับอุปฐากพระอาราม ๒๐๐ ครัว และถวายพระกัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม แล้วทรงพระกรุณาตั้งเจ้าอธิการ ชื่อ พระครูธรรมรูจีราชมุนี อยู่ครองพระอาราม ถวายเครื่องสมณบริขารตามศักดิ์พระราชาคณะแล้วเสร็จ ก็เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร จำเดิมแต่นั้นมา พระอารามนั้นก็เรียกว่า วัดโพธิ์ประทับช้าง มาตราบเท่าทุกวันนี้. ฯลฯ ข้อมูลบางส่วนจาก พระราชพงศาวดารกรุงเก่า
เพราะเหตุใด ? จึงนิยมเรียก พระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ กันละ ?
อืม .... นั่นสิครับเป็นสิ่งที่น่าคิด และฉงนใจมิใช่น้อย เดิมที พระองค์ได้พระนามว่า พระเจ้าเดื่อ (มะเดื่อ) นั่นคงเป็นพระนามที่พระองค์คงยินดีมาก เสียกว่าที่จะได้ยินเป็นอย่างอื่นแน่จริงม่ะ ... มีเรื่องเล่าว่า เพราะพระองค์เกิดปีขาล หรือ ปีเสือ นั่นเอง บ้างก็ว่า พระองค์ทรงดุ ! มาก ก็จะดุเหมือนอะไรล่ะครับ ถ้ามิใช่เสือ จริงแม่ะ ... นั่นแหละครับชาวบ้านเลยเรียกกันจนคุ้นเคย จนสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน นานเกินจนหลายคนลืมเอ่ยชื่อ พระเจ้าเดื่อ ไปเลย ....
อันที่จริงพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ ที่รักแผ่นดิน รักชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ทรงรัก ศาสนาของพระองค์ นั้นก็คือ พระพุทธศาสนา เหมือนกับประชาชน ชาวบ้านหลาย ๆ คน ซึ่งต่างก็รักศาสนาเหมือนพระองค์นั่นแหละครับ ลองนึกดูให้ดีสิครับ เป็นเรื่องที่เรา ซึ่งถือว่าเป็นคนรุ่นหลังเกิดไม่ทันแน่ แต่ทำไมพระองค์ถึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา รักประเทศชาติ รักประชาชน มีหรือที่พระองค์จะเหยียบย่ำ กดขี่ ข่มเหง ต่อประชาชนของพระองค์เอง ดังที่พวกฝ่ายตรงข้าม พระองค์โจมตีเล่า ....
ดังในสมัยที่พระองค์ทรงมียศเป็นขณะนั้น คราว เมื่อ ข้าราชการส่วนใหญ่ ต่างก็อยู่ในอำนาจ และเกรงกลัว เกรงใจ ต่อนายฝรั่ง อย่าง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ซึ่งกำลังเป็นที่ไว้วางพระทัยของ องค์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กำลังซ่องสุมกำลังพล เพื่อหวังยึดครองอำนาจ และมีทหารทั้งภายใน และต่างชาติ อยู่ในอำนาจไม่น้อยทีเดียว.
และมีวิธีจูงใจต่าง ๆ ให้คนหันมารับราชการ ทำความดีความชอบมากมาย แม้กระทั่ง มีวิธีจูงใจ และบังคับให้พระสงฆ์องค์เจ้าที่บวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ให้สึกออกมารับราชการนั้นอย่างมากมายทีเดียว แน่นอนครับ สำหรับคนไทย นั้นบางพวกก็คงสนับสนุน เห็นดี เห็นงามด้วย แต่บางพวกก็คงจะคัดค้านไม่เห็นชอบด้วย ... แต่ด้วย อำนาจและหน้าที่ บวกกับความสนิทสนมชิดใกล้ องค์พระมหากษัตริย์ คือ องค์พระนารายณ์ ต่างก็เกรงพระราชหฤทัย แม้แต่พระองค์เอง ก็คงทรงอึดอัดในพระราชหฤทัยไปไม่น้อยทีเดียว
แต่... มีบุคคลหนึ่งที่ มีความรักชาติ รักศาสนาไม่น้อยไปยิ่งหย่อนไปกว่าใคร อาจจะมากมายกว่าใคร ๆ ด้วยก็ว่าได้ ก็คือ ขุนหลวงสรศักดิ์ นั่นเอง ซึ่งก็คือ พระเจ้าเสือ หรือ พระเจ้าเดื่อ นั่นเอง คงเก็บความรู้สึกความอัดอั้นตันใจ ที่ทนดู เจ้าฝรั่งวิชชาเยนทร์ มาสึกเอาเจ้ากู ก็คือ บรรดาพระสงฆ์ที่บวชอยู่ ให้สึกออกมารับราชการเสียมากต่อมากมิได้อีกต่อไป จึงเป็นเหตุให้ชกเอาปากเจ้าวิชาเยนทร์จนปากแตก เลือดกลบ ถึงกับฟันหักไป ๒ ซี่ทีเดียว ดังโคลงสุภาพพงศาวดาร ตอนนั้น ได้กล่าวไว้ว่า... ความรักชาติและข้อนี้มันน่าคิดมิใช่น้อยนะผมว่า ... บางทีถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ อ่านประวัติศาสตร์อย่างเดียว แล้วตัดสินใจเชื่อ และยอมรับ ในเรื่องราวที่เขาเขียนไว้ แต่ไม่ได้คิด วิจัย วินิจฉัย เรื่องราวต่าง ๆ ความเป็นไปได้ต่าง ๆ มันก็คงเกิดเรื่องเสียหาย และน่าใจหายมิใช่น้อย จริงม่ะ ....ฝากไว้ให้คิดด้วยละกัน แต่ผมก็ยอมรับฟังเรื่องราวความเห็นต่าง ๆ อยู่แล้ว เพราะเรื่องมันเกิดไปแล้ว 5555 ........ ยิ่งเมื่อได้รู้เรื่องราวของ พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือพระที่นั่ง เรือเอกชัย อีก พระองค์ดูแตกต่าง และแปลกไปจากเรื่องราวที่กล่าวหาพระองค์ไปในทางที่เสื่อมเสีย ไปในทางที่ไม่ดีเลย สังเกตดูนิสัยพระองค์ไม่ได้โหดร้าย ไม่ได้เหี้ยมโหด ไร้คุณธรรมเลยสักนิดเดียว ซึ่งความน่าจะเป็น ก็คงน่าจะโหดร้ายกับคนที่ควรโหดร้ายด้วยเท่านั้นมากกว่า จริงมั๊ย ครับ .... แต่ ก็อย่างว่าแหละ ขึ้นชื่อว่าคน เมื่อเป็นที่รักของอีกฝ่าย แน่นอน...อีกฝ่ายย่อมเกลียด อยู่เสมอนั่นแหละ .... เรื่องนี้ผมว่ามันเข้ากับยุคสมัยในปัจจุบันมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกันกับ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความรักชาติรักแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน รักความสงบสุขในชาติบ้านเมือง อยากให้ชาติบ้านเมืองเรามีสันติสุข เหมือนดังในอดีต ที่ผ่านมา เราก็ต้อง รักสามัคคีกัน และช่วยผดุงคุณธรรม ที่ผมเห็นชัดเจนเพียงอย่างเดียวมาตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ หลักธรรม ในพระพุทธศาสนา ที่กษัตริย์ชาติไทยเราได้ทำนุบำรุงถือปฏิบัติสืบกันมาแต่โบราณจนเป็นราชประเพณี และยังให้เกิดสันติสุขแก่ประชาชน แก่คนในสังคมมาทุกยุคทุกสมัย นับเป็นหลาย ๆ ร้อยปี ตั้งแต่ยุคก่อนกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และตลอดยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงในปัจจุบัน ถ้าหากเรายังไม่รักสมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแล้ว ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะอยู่รอดได้อย่างใดครับ ...
“...ฝ่ายหลวงสรศักดิ์แจ้ง ประจักษ์การ
สมณพราหมณาจารย์ ขุ่นข้อง
วิชเยนทร์ทุจริตหาญ เบียนศาสน์ หมองเฮย
สึกภิกษุสามเณรร้อง เรียกใช้เชิงเฉลย
วิชเยนทร์สุนิเวศขึ้น สถิตอาสน์
ว่ากิจใดผิดขาด ถอดตั้ง
สรศักดิ์พิศยิ่งบาด ตาใคร่ สับเฮย
ลุกทะลึ่งชกบ่ยั้ง ปับคว่ำ ขมำลง”
ถึงแม้ว่า การกระทำของ หลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเดื่อ) ในครั้งนี้ถือว่าอุกอาจ และอาจหาญเป็นอย่างยิ่ง และทำให้เสียพระเกียรติขององค์ พระนารายณ์มหาราช หรือเรียกอย่างภาษาชาวบ้านๆ ว่า เสียหน้า ในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก เพราะ หลวงสรศักดิ์นั้น ได้กระทำต่อหน้าพระพักตร์ และต่อหน้าเสนาอำมาตย์ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ แต่นั่น ก็ถือว่าเป็นการสั่งสอน เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ให้หลาบจำ และเข็ดขยาดเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว เหตุการณ์นี้แสดงให้ว่าชาวไทยทั้งหลายในขณะนั้น ต่างก็คงได้รับความลำบากใจ เป็นอันมาก จากการกระทำของ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ที่ได้สึกเอาพระภิกษุสามเณร ออกไปรับราชการเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่มีใครจะทัดทาน และสามารถแสดงความเห็นคัดค้านได้เลย เพราะถือว่า เจ้าฝรั่งวิชาเยนทร์ คนนี้ เป็นคนโปรดขององค์ พระนารายณ์มหาราช ยิ่งนัก
แม้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะทรงกริ้วเพียงใดก็ตาม พระองค์ก็ทรงมิได้ถือเอาความอันใดกับ หลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเดื่อ) พระองค์ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ ด้วยเห็นว่า เป็นเจตนาดีของ หลวงสรศักดิ์ ที่ได้กระทำอย่างนั้น เพราะด้วยความรักชาติบ้านเมือง และ รักพระศาสนา ซึ่งพระองค์ก็ทรงทราบเหตุการณ์ที่ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้กระทำอยู่แล้ว
อนึ่ง เหตุการณ์นี้ เป็นหลักฐานที่แสดงถึง ความรัก ขององค์พระนารายณ์มหาราช ที่ทรงมีต่อ หลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเดื่อ) ยิ่งนัก ซึ่งพระองค์ย่อมทรงรู้อยู่เสมอว่า หลวงสรศักดิ์ นั้น มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับพระองค์เพียงใด มิใช่เป็นเพียงทหารมหาดเล็ก ธรรมดาๆ อย่างทั่วไป นั่นแสดงให้เห็นว่า หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ นั้นเป็น พระโอรส ของพระองค์ ที่ประสูติกับ พระธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่ คือ พระนางกุสาวดี พระธิดาของ พระเจ้าแสนฝาง เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่องค์พระนารายณ์ ทรงได้รับมอบจากครั้งที่ขึ้นไปตีเอา เมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๔ นั่นเอง
เหมือนดังเพลงสามัคคีชุมนุมที่เราต่างก็จดจำ และร้องกันได้อย่างดีนั่นแหละครับ “...รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย จะเกิดชาติไหน ๆ ก็ไทยด้วยกัน รักษาประเพณี ไม่มีขีดกั้น ก็เราทุกคนชาติไทยด้วยกัน...” ครับ คำว่า ชาติไทย ในที่นี้คือ เราผู้อยู่ในผืนแผ่นดินไทย ด้ามขวานไทย ที่ยังอยู่นี่แหละครับ คือ เป็นผู้รักความสงบสุข เกิดสันติสุขของคนในสังคม อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่ว่าเชื้อชาติใด ไทยภาคเหนือ ไทยภาคกลาง ไทยภาคอีสาน ไทยภาคใต้ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยคริสต์ ไทยซิกซ์ ไทยพราหมณ์ ไทยฮินดู ศาสนาใด ๆ เราทั้งผอง ต่างก็เป็นไทย คือ เป็นผู้รักสันติสุข รักความสงบ ไม่มีการกดขี่ข่มเหง ไม่มีการข่มขู่ ให้ไร้ซึ่งอิสรภาพ เสรี นั้นคือ ชาติไทย ของเราทุกคนครับ เราทุกคนจึงได้ชื่อว่า คนไทย ครับผม ผมจึงอยากเรียนถามว่า แล้วคุณล่ะ คนไทย หรือเปล่า........
ความสำคัญของวัดโพธิ์ประทับช้าง
เดิมทีแรกนั้นวัดโพธิ์ประทับช้างนั้นยังไม่มี และไม่ได้เรียกชื่อกันมาอย่างทุกวันนี้ แต่เดิมนั้น น่าจะมีชื่อเรียกแน่ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ถือเอาเป็นความแน่นอนไม่ได้ เหมือนอย่างวัดอื่น ๆ แต่ภายหลังต่อมาชาวบ้านเรียกชื่อวัดกันว่า วัดหลวงโพธิ์ประทับช้าง คือหมายถึงเป็นวัดของพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) ซึ่งถือกันว่าเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองสวยงามมากกว่าใครในสมัยนั้น (พ.ศ. ๒๒๔๒ – ๒๒๔๔) และนอกจากนี้พระองค์ยังได้เกณฑ์พลเรือนมาตั้งครอบครัว จำนวนถึง ๒๐๐ ครอบครัว เพื่อเอาไว้อยู่อุปฐากรับใช้ ดูแลคณะพระสงฆ์ ที่พระองค์ทรงได้แต่งตั้งไว้เป็นผู้ครองพระอารามแห่งนี้ คือ พระครูธรรมรูจีราชมุนี ซึ่งพระมหาเถระรูปนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อพระองค์ และหมู่พสกนิกรของพระองค์อยู่อย่างมากแน่นอน และสันนิษฐานว่า พระมหาเถระรูปนี้ ต้องเป็นพระราชาคณะอยู่ปกครองคณะสงฆ์ใน เมืองพิจิตร แห่งนี้ด้วยอย่างแน่นอนทีเดียว เพราะแถบลุ่มน้ำน่านสายเก่าแก่แห่งนี้ หรือ เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า แม่น้ำพิจิตรเก่า เต็มไปด้วยบ้านผู้คนทั้งสองฝั่งริมน้ำ ซึ่งถือกันว่าเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์อย่างมากที่เดียว ด้วยอาศัยเรื่องราวที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่ได้เล่าให้ฟังสืบกันมา และจากหลังฐานจากวัดต่าง ๆ ในแถบนี้ นับตั้งแต่ชุมชนบ้านโพธิ์ประทับช้างขึ้นไป ถึงชุมชนตำบลเมืองเก่า ทุกๆ ระยะทางประมาณ ๑ ถึง ๒ กิโลเมตร จะมีวัดอยู่เสมอ ๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำสายนี้ ดังที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า ดาษดื่นเต็มไปด้วยบ้านผู้คนอาศัยอยู่กันหนาแน่น ชนิดที่เรียกว่า “ ไก่บินไม่ตกฟาก ” นั่นแหละครับ
เหตุการณ์ที่เปลี่ยนผัน ชีวิตคนในเขตลุ่ม แม่น้ำพิจิตร ( แม่น้ำน่าน สายเก่า )
อย่างที่คำโบราณว่าไว้ว่า ...ที่ไหนมีความเจริญ ที่นั่น...ย่อมมีความเสื่อมเข้ามาเยือนเสมอ .... นั่นแหละครับ... หลังจากที่หลาย ๆ ชีวิต ต่างก็อยู่อย่างสุขสงบมาหลายชั่วอายุคน แต่ ค่ำคืนวันหนึ่งมีสายลมพัดมาอย่างหนาวเย็น แบบแปลก ๆ และท่ามกลางเสียงโหยหวนของเหล่าสุนัข ที่ร้องส่งกันเป็นทอด ๆ บางตัวก็คำราม ขู่กันโชกเหมือนกับว่ามันเผชิญอะไรบางอย่าง ! .... และแล้วก็ได้ยินเสียงคนร่ำไห้ เสียงร้องไห้ของผู้คนบ้านเหนือ บ้านใต้ จนจับทิศทางไม่ได้ว่ามันมาจากทิศใดกันแน่ ....ใช่แล้วครับ เสียงร้องของลูก หลาน ภรรยา สามี ของผู้ตายนั่นเอง .... ต่างก็ล้มหายตายจากกันไป บ้านละ ๒ ศพบ้าง ๓ ศพ บ้าง บางบ้านก็แทบตายหมดทั้งหลัง คนที่รอดตาย และมีเรี่ยวแรงยังดี ต่างก็ช่วยกันนำศพคนตายไปเผาบ้าง ฝังบ้าง แรก ๆ ก็เอาไปเผาได้ แต่เมื่อตายกันมาก ๆ ก็เผาไม่ทัน ก็ช่วยกันหามไปฝังไม่เว้นแต่ละวัน แต่ละคืน แม้แต่เด็กอายุ ๑๐ ขวบ ! ที่ยังแข็งแรง ยังมาช่วยกันแบกศพหามศพด้วยเช่นกัน
จนผู้คนในหมู่บ้านเหลือน้อยเบาบางไปมาก และเห็นว่าขืนอยู่อาศัยกันต่อไปต้องตายกันหมดทั้งหมู่บ้านแน่นอน ต่างก็พาลูกพาหลาน อพยพย้ายครอบครัวหนีไปอาศัยถิ่นอื่นที่ใกล้เคียง ที่โรดระบาดหนักในครั้งนั้นกันมากมาก จนบ้านโพธิ์ประทับช้างบ้านใกล้เคียงกันนี้กลายเป็นหมู่บ้านร้างไปในที่สุด แต่ก็ยังพอมีอยู่บ้าง ที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากสายน้ำนี้ก็อาศัยอยู่ต่อไป นั่นเพราะว่าชาวบ้านที่ตายไปนั้นเกิดโรคระบาดหนักคือ โรคอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า นั่นเอง ซึ่งเกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๗๕ ถือว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด เท่าที่เคยเกิดมาของโรคดังกล่าว
วัดโพธิ์ประทับช้างนั้น เป็นวัดร้างมาก่อนนานแล้ว สอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านก็ไม่ทราบแน่นอนว่าร้างไปเพราะเหตุใด รู้แต่ว่าได้ร้างไปก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๔ แน่นอน ! ข้อสันนิษฐานก็คือ เพราะในสมัยนั้น วัดท่าตำหนัก ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ห่างจากวัดโพธิ์ประทับช้าง ประมาณ ๒ กิโลเมตร กำลังเป็นวัดที่เจริญมีบ้านผู้คนอาศัยอยู่รอบวัดและเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จมาพักเมื่อคราวมาสร้างวัดโพธิ์ประทับช้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๒ และต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นวัดที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เสด็จมาประทับ ณ วัดท่าตำหนัก แห่งนี้ เมื่อคราวเสด็จมาตรวจเยี่ยมวัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งประชาชนต่างก็ปลาบปลื้ม ดีใจที่พระองค์เสด็จมา ณ ที่วัดแห่งนี้ เมื่อพระองค์ได้เสด็จมาถึง วัดโพธิ์ประทับช้าง ชาวบ้านได้เอาประตูโบสถ์ ซึ่งได้พังลงมา เช็ดถู ทำความสะอาดแล้ว นำมาให้พระองค์ประทับนั่ง โดยเส้นทางที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยมวัดโพธิ์ประทับช้างในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกกันว่า ทางสายเสด็จ มาจนถึงปัจจุบันนี้ (คือจาก ต.เมืองเก่า ตั้งแต่ ต้นมะเดื่อ เลยสะพานข้ามคลองชลประทาน - ผ่านวัดสิงห์จุฬามณี (โบสถ์ตาอินทร์) ตามเส้นทางเรียบคลองชลประทานในปัจจุบันจนถึง วัดท่าตำหนัก และวัดโพธิ์ประทับช้าง ) และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์กรมสงขลานครินทร์ เมื่อคราวเสด็จมาตรวจราชการทางเมืองเหนือ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จมาทางเรือ ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่แน่ชัด ยังไม่มีหลักฐาน อาศัยชาวบ้านเล่า ต่อ ๆ กันมา
หมายเหตุ ทางกรมศิลปากร ได้ค้นพบใบเสมา วัดตำหนัก จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีจารึกข้อความเป็นอักษรขอมสุโขทัย และไทยสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๓ แปลได้ใจความว่า ...มหาเถรสุมงคลราชรุจีศรีพิเชียรปรีชญา เป็นประธาน ร่วมกับพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา พร้อมใจกันประดิษฐานพระธาตุ และพระพุทธรูปโดย ไว้เป็นพุทธบูชา... ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
พื้นที่ และอาณาเขต ของวัดโพธิ์ประทับช้าง ในปัจจุบัน
แต่เดิมนั้นสันนิษฐานว่า มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๐๐ ไร่ แต่ภายหลังจากที่วัดมีสภาพได้ร้างไปนาน ชาวบ้านได้เข้ามาจับจองเป็นที่อยู่อาศัยบ้าง ใช้ทำที่ทำกินบ้าง ในปัจจุบันนี้คงมีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ ๙๕ ไร่
- น.ส. ๓ ก เลขที่ ๔๐๘ มีพื้นที่จำนวน ๘๐ ไร่ ๑ งาน
- น.ส. ๓ ก เลขที่ ๔๐๑ มีพื้นที่จำนวน ๑ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา
- น.ส. ๓ ก เลขที่ ๔๐๗ มีพื้นที่จำนวน ๑๒ ไร่ ๑ งาน ๒๐ ตารางวา
- ทิศเหนือจรดถนนทางหลวงแผ่นดิน สายฆะมัง – โพธิ์ประทับช้าง (๑๓๐๐)
- ทิศใต้จรดที่ของนายระดม จุ้ยวอน
- ทิศตะวันออกจรดคลองชลประทาน บี.อาร์. ๙๖.๗ แอล
- ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำพิจิตรเก่า (แม่น้ำน่านสายเก่า)
สถาปัตยกรรม และโบราณสถาน
๑. อุโบสถ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ขนาดกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ภายในประดิษฐานพระประธานปูนปั้น ชาวบ้านเรียกว่า " หลวงพ่อโต " อุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ มุงด้วยกระเบื้อง มีมุขหน้า หลัง ประตูและหน้าต่าง ประดับด้วยซุ้มที่มีลวดลายงดงาม โดย อุโบสถ และ พระประธานหันหน้าไปทิศตะวันตก ซึ่งเป็นแม่น้ำน่าเก่าบริเวณอุโบสถ นั้นรายรอบด้วย เจดีย์รายจำนวน - องค์ และ มีบรรณศาลารับรองทั้งสองข้าง
๒. เจดีย์ คู่ ย่อมุมสิบสอง ปล้องไฉนศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานกว้าง ๕ เมตร สูง ๘ เมตร
๓. วิหาร ฐานสูง ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๐.๗๐ เมตร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์
๔. เจดีย์ บริเวณหน้าวิหารศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๕ เมตร ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในบริเวณกำแพงแก้วรอบนอก มีขนาด ก้วาง ๗๐.๕๐ เมตร ยาว ๑๐๕.๒๐ เมตร
๕. วิหาร ตั้งอยู่ทิศใต้อุโบสถศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเครื่องบูชา ขนาดกว้าง ๑๑.๖๐ เมตร ยาว ๒๘.๗๐ เมตร
๖. กุฏิสงฆ์ ตั้งอยู่บริเวณทางทิศใต้วิหารและเจดีย์ ขนาดกว้าง ๒ เมตร ยาว ๔ เมตร มีกำแพงล้อมรอบ
๗. ศาลาเก้าห้อง ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ล้อมรอบด้วยกำแพง ขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร
๘. สระน้ำ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ขนาดกว้าง เมตร ยาว เมตร (ปัจจุบันได้ถมไปแล้ว) ใช้จัดเป็นสนามฟุตบอล และตลาดชุมชน
ที่มารูปภาพ :