การจัดโต๊ะหมู่บูชาในพิธีต่างๆ
Article Index |
---|
การจัดโต๊ะหมู่บูชาในพิธีต่างๆ |
การจัดโต๊ะหมู่๔ |
การจัดโต๊ะหมู่๕ |
การจัดโต๊ะหมู่๗ |
การจัดโต๊ะหมู่๙ |
การจัดโต๊ะหมู่แบบต่างๆ |
การตั้งโต๊ะหมู่ถวายพระพรหรือรับเสด็จ |
การจัดเครื่องทองน้อย |
ทุกหน้า |

การจัดโต๊ะหมู่บูชา เป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทยมานาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีมาแต่สมัยใด ปัจจุบันในพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือราษฎร์พิธี จะเป็นงานมงคล หรืองานอวมงคลก็ตาม นิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั้งสิ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมเครื่องบูชาตามคตินิยมของชาวพุทธ เท่าที่ปรากฏในสมัยพุทธกาล พุทธบริษัทมีความประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง นิยมนิมนต์พระสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประมุขในงานกุศลนั้นๆ เพื่อต้องการให้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมบริบูรณ์
ศาสนพิธีต่างๆ ทางพุทธศาสนาจึงนิยมอัญเชิญพระพุทธรูปเป็นนิมิตรแทนองค์พระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ในพิธีเพื่อให้พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่การอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานนั้นควรทำสถานที่ให้เหมาะสม ในชั้นแรกสันนิษฐานว่า อาจใช้โต๊ะธรรมดาเป็นที่ประดิษฐานต่อมาได้มี วิวัฒนาการเป็นโต๊ะหมู่บูชาขึ้นดังปรากฏในปัจจุบันนี้มีหลายรูปแบบนับเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย
การจุดธูป ๓ ดอก เป็นการบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า ๓ ประการคือ
๑. บูชาพระปัญญาคุณ
๒. บูชาพระวิสุทธิคุณ
๓. บูชาพระมหากรุณาธิคุณ
การจุดเทียน ๒ เล่ม เป็นการบูชาพระธรรมและพระวินัย เล่มขวาของพระพุทธรูป หรือด้านซ้ายของผู้จุดเป็นเทียนพระธรรม เล่มซ้ายของพระพุทธรูปหรือด้านขวาของผู้จุดเป็นเทียนพระวินัย
ปัจจุบัน การตั้งโต๊ะหมู่บูชานิยมตั้งใน ๒ กรณี คือ
๑ในพิธีทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญ ฟังเทศน์ เป็นต้น
๒ ๒ ในพิธีถวายพระพร หรือตั้งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมราชินีนาถ
การจัดโต๊ะหมู่บูชาในบางพิธีของราชการ
การจัดโต๊ะหมู่บูชาในพิธีบางพิธีของทางราชการ เช่น การประชุม อบรม สัมมนา เป็นต้นที่มิใช่พิธีเกี่ยวกับนานาชาติและการประชุมปกติของคณะกรรมการ นิยมตั้งธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับโต๊ะหมู่บูชาเพื่อให้ครบทั้ง ๓ สถาบันคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีหลักในการจัดคือ ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ตรงกลาง ตั้งธงชาติไว้ทางด้านขวาของโต๊ะหมู่ และตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่ ดังภาพ

๑พระพุทธรูปจะต้องอยู่สูงกว่าเครื่องบูชาทุกชนิด
๒ เครื่องบูชาอย่างน้อยที่สุด คือ แจกันดอกไม้ ๑ คู่ เชิงเทียน ๑ คู่ และกระถางธูป ๑ กระถาง (พานดอกไม้จะมีหรือไม่มีก็ได้)
เครื่องบูชาที่ใช้ในการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ก็คือ พานพุ่ม หรือ พานดอกไม้ แจกันดอกไม้ กระถางธูป เชิงเทียน โดยมีปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป ตามจำนวนของโต๊ะหมู่ที่ใช้ สำหรับโต๊ะหมู่ก็มีจำนวนโต๊ะต่อหมู่ที่แตกต่างกัน คือ หมู่ ๔ หมู่ ๕ หมู่ ๖ หมู่ ๙ โดยปัจจุบัน นิยมใช้เฉพาะ หมู่ ๕ หมู่ ๗ หมู่ ๙ โดยหมู่ ๕ นิยมใช้ในพื้นที่จำกัด ส่วนหมู่ ๗ และหมู่ ๙ มักจะใช้ในพิธีที่สำคัญและมีพื้นที่กว้างพอสมควร
การจัดเครื่องบูชาบนโต๊ะหมู่ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ผู้จัดจึงมักทำด้วยความปราณีตบรรจง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัย และเพื่อแสดงถึงศิลปะในการจัดเครื่องบูชา นอกจากนี้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ผู้จัดโต๊ะหมู่บูชาควรทราบหลักเกณฑ์และวิธีจัดโต๊ะบูชาแบบต่างๆ ไว้ เพื่อจะได้จัดอย่างถูกต้อง โดยมีหลักเกณฑ์การจัดคือ การตั้งเครื่องบูชาทุกชนิดจะต้องไม่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ประดิษฐานที่โต๊ะหมู่บูชา ส่วนปริมาณอาจแตกต่างกัน